จากบทความ “แนวโน้มของการเติบโตอุตสาหกรรม EV ในโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ได้ถูกอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยเราย่อมไม่สามารถหลีกหนีจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมแห่งยานยนต์ไฟฟ้าไปได้ ด้วยแรงผลักดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกของเราในหลาย ๆ มิติทั้งเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ, ปัญหามลพิษทางอากาศ และการผลักดันเชิงนโยบายจากประเทศต่าง ๆ

“การเร่งรีบผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จะส่งผลอย่างไรบ้าง ?”

หากย้อนกลับมาดูที่แหล่งที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเรานั้น จะพบว่าในอดีต ประเทศไทยเรามุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย พอ ๆ กันกับด้านการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีที่มาช่วยพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในมิติต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบให้ทุกธุรกิจทั้งด้านการแพทย์ การขนส่ง การผลิต อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและการเกษตร รวมถึงยานยนต์ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ประเทศที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ สามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยเหตุนี้แล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะมีฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกที่มีแนวโน้มไปสู่สังคมแห่งยานยนต์ไฟฟ้า จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ประเทศเราคงอยู่กับการศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงอาศัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน คงไม่ใช่เรื่องที่เพียงพออีกต่อไปต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

แล้วปัจจุบัน ประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายและวางแผนต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไรแล้วบ้าง ?

สำหรับประเทศไทยเรา ในฐานะประเทศที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องปฏิวัติเป็นอันดับแรกคือ “การยกระดับให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคตของประเทศ” การดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะช่วยรักษาและต่อยอดความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกในภูมิภาคเอเชียอยู่ได้ ซึ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดัน ขับเคลื่อน สนับสนุนให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ที่ล็อคเราไว้มาหลายสิบปี อันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของคนไทยดีขึ้น

ประเด็นดังกล่าวนี้ถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องสำคัญ จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติปีที่ผ่านมา (ปี 2020) จึงมีการตั้งเป้าหมายว่า “ประเทศไทยต้องสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 30% จากกำลังผลิตทั้งหมดในปี 2030” หรือ “ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราว ๆ 750,000 คันให้ได้ภายในปี 2030”

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานฯ ได้ประกาศแผนกระตุ้นการลงทุนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยการสร้างนโยบายพลังงานเข้มแข็ง ครอบคลุมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ก็ได้มีการกำหนดเป้าการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานของเอกชน อย่างเป็นรูปธรรม

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดว่า การที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้มีเหตุผลแค่เพียงมิติของด้านการช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการคาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ในการมาร่วมมือกัน ผลักดัน สนับสนุนแนวความคิดและทัศนคติที่ดีต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งทุกธุรกิจควรเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจในกำกับของ กระทรวงพลังงานฯ นี้ ก็จะคอยเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญ ที่จะร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ร่วมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านบทบาท ภาระหน้าที่ ในการส่งเสริม สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งในอนาคตด้วยเช่นกัน

Recommend

[bdp_post_carousel show_content="true" arrows="false" speed="2000" show_comments="false" show_read_more="false"]